วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาดีที่สุดในกลุ่มอาเซียน


                 เชื่อว่าหลายท่านคงทราบผลการสำรวจของ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ต่อแวดวงการศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน ทำให้พบว่า “คุณภาพการศึกษาของสังคมนี้เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียนจาก 10 ประเทศ อยู่ที่หมายเลข 10” เป็นตัวเลขที่ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรองนายกรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลกระทรวงศึกษาฯ ออกมากล่าวแบบไม่ค่อยอยากเชื่อผลสำรวจ มีทั้งให้ทำการตรวจสอบผลและพยายามหาถ้อยคำมาอธิบายในเชิงบวกให้แก่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
                ในฐานะที่ผู้เขียนอยู่ในแวดวงการศึกษามายาวนานมากกว่า 30 ปี ทั้งเป็นผู้เรียน ได้เข้าศึกษาอบรมหลักสูตรต่างๆ มากระทั่งถึงการเป็นผู้สอนให้ความรู้คนอื่นเขาทั้งในและต่างประเทศ เมื่อทราบผลการสำรวจต้องเรียนว่า ไม่รู้สึกแปลกประหลาดใจใดๆ เลย เพราะมาตรฐาน และคุณภาพการศึกษาในหลากหลายมิติ ทั้งตัวผู้เรียน ผู้สอน กระบวนการจัดการเรียนการสอน เครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สังคมนี้มิได้ขาดเลย เรามีงบประมาณปีปีหนึ่งมากนับหลายหมื่นล้านบาทสำหรับจัดการกับการศึกษา เคยมีคนบ่นว่า เอาไปลงทุนสร้างตึกสร้างอาคารสถานที่และใช้ในเรื่องค่าจ้างเงินเดือน ทำให้ไม่เหลือพอกับการนำมาพัฒนาปรับปรุงคุณภาพครูอาจารย์ และบ่มเพาะให้นักเรียนนักศึกษามีภูมิความรู้อย่างที่ควรจะเป็น
               นั่นเป็น “ข้ออ้างของนักการศึกษาหรือนักวิจารณ์ที่อาจไม่รู้ลึกถึงเรื่องในวงการการศึกษาอย่างดีพอ” ปัญหาที่เกิดขึ้นหลักใหญ่อยู่ที่ “กระบวนการบริหารจัดการทั้งระบบและเป็นเรื่องของ ‘ค่านิยม‘ และ ‘วัฒนธรรม‘ ของคนในสังคม” ที่ยังขาด “ความมุ่งมั่นทุ่มเท” กระทั่งการมีทัศนคติต่อการศึกษาเสมือน “ทางผ่าน” มากกว่าเป็นเรื่องของ “ความจำเป็นที่ทุกคนจะเป็นคนอย่างสมบูรณ์จะต้องได้รับการศึกษาอย่างไรบ้าง”
              เห็นได้ชัดตั้งแต่ความคิดของคนรุ่นใหม่ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากไม่ให้ความสนใจหรือไม่เห็นความสำคัญต่อสาขาวิชาความรู้ที่ตนต้องศึกษาเล่าเรียน เพราะเข้าใจและซาบซึ้งกับบริบทของสังคมไทยดีว่า “การมีพรรคพวก เส้นสาย และอำนาจเงินตรา” เหมือนจะเป็นสิ่งที่บันดาลได้เกือบทุกอย่าง พอมาถึงการศึกษาหาความรู้จึงไม่ขวนขวายกระตือรือร้น รอเวลาให้ผ่านพ้นไป หรือขอเอาปริญญาเป็นใบเบิกทางอนาคต อย่างที่คงเห็น “ดารา นักแสดง” จำนวนมาก ในช่วงวัยที่ควรจะหมั่นศึกษาหาความรู้ก็ไม่มีเวลา เพราะช่วง “น้ำขึ้นต้องรีบตัก” ทางสถานศึกษาบางแห่ง โดยเฉพาะภาคเอกชนมักจะอะลุ้มอล่วย อนุโลมให้เพื่อจะทำให้สถาบันตัวเองมีหน้ามีตา เป็นที่กล่าวขวัญถึง เพราะมีดารามานั่งเรียนจะได้เป็นแรงเสริมแรงดึงดูดลูกค้าของสถาบัน
             ที่เล่ามาเป็นสาเหตุข้อต้นๆ ที่มีผลให้ระบบการศึกษาเล่าเรียนของสังคมนี้ดูจะกะปลกกะเปลี้ย มีเด็กเก่งจำนวนหนึ่งสู้อุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเอาเหรียญเงินเหรียญทองจากการแข่งขันวิชาการนานาชาติ แต่พอมาถึงบ้านก็ขาดการจุนเจือดูแลฟูมฟักอย่างต่อเนื่อง หลายคนน่าจะดีถ้าเลือกไปในสายวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ คือ ทำตัวเป็นนักวิทยาศาสตร์จริงๆ เป็นนักฟิสิกส์ นักเคมีเหมือนในต่างประเทศ ก็พบว่าจำนวนมากเลือกเอาสายอาชีพที่เห็นตัวเงินหรือความก้าวหน้าได้ชัดเจนกว่า เช่น ไปเป็นหมอบ้าง เป็นวิศวกรบ้าง
             พวกคนที่เรียนมาทางสายศิลป์จะภาษาหรือศิลปะตรงๆ แบบเข้มข้น ก็คิดอ่านหวังใช้มหาวิทยาลัยในประเทศเป็นฐานในการอ้างได้ว่าตัวเองมี “รุ่น” มี “พวก” เผื่อใช้ในการประสานงานต่อยอดการทำธุรกิจหรือการประสานด้านอื่นๆ ในเวลาต่อไป ทางครูเองนอกจากเงินเดือนน้อยหนี้เยอะ ยังมีภาระต้องคอย “วิ่งเต้น” เพื่อให้ตนเองอยู่ในพื้นที่ซึ่งตั้งรกราก หรือต้องการก้าวหน้าก็ต้องปรากฏตัวให้ผู้บังคับบัญชาเห็นบ่อยๆ กระทั่งเวลาปฏิบัติงานราชการที่เป็นหลักคือ “การสอนหนังสือ” ได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
             ผู้ปกครองเด็กนักเรียนสมัยใหม่ ที่มีฐานะดีบางครอบครัวดูแล “ลูก หลาน ยิ่งกว่าไข่ในหิน” เคยเห็นผู้ปกครองบางรายต้องมารับส่งลูก หรือมาเฝ้าดูลูกทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ด้วยความห่วงใย ไม่คิดจะปล่อยให้ลูกโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว จึงทำให้เด็กไทยที่สมองดีและมีโอกาสดีกว่าคนอื่นๆ จำนวนมาก กลายเป็น “พวกถูกเลี้ยงให้โตแต่ตัว ส่วนสมองสติปัญญาความคิดยังขาดการเติมเต็มอีกมาก” ผมจึงต้องพูดแบบไม่อ้อมค้อมว่า ผลการสำรวจที่ออกมาไม่น่าผิดไปจากความเป็นจริง แต่เมื่อทราบแล้ว คนมีอำนาจหน้าที่ต้องนำไปปรับปรุงแก้ไข อย่างเร่งด่วน และอย่ามัวหา “แพะ” ต้องพัฒนาให้ประเทศไทยกลับคืนมาอยู่แถวหน้าในอาเซียนให้ได้ในเร็ววัน
 ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก

วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

อัตราการรู้หนังสือของประเทศสมาชิกอาเซียน

ปัจจุบันการศึกษาและความเจริญด้านต่าง ๆ ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก การอ่านจึงมีความสำคัญเพราะเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ตลอดจนแนวคิดต่าง ๆ ความรู้ส่วนใหญ่ที่จะค้นคว้าได้ด้วยตนเอง มักจะออกมาในรูปของสิ่งพิมพ์ ซึ่งต้องอาศัยทักษะทางด้านการอ่านและการเขียน หากประเทศใดที่มีคนรู้หนังสือมากก็ย่อมได้เปรียบ วันนี้จึงนำอัตราการรู้หนังสือของประเทศอาเซียนมาให้วิเคราะห์กัน
 
หมายเหตุ: ผลสำรวจนี้ สำรวจจากผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไป

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ Asean by MAC 

วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

บ้านหนังสือเพื่อชุมชน


นางสาวอ่อนนวล ดำมีศรี ในฐานะอาสาสมัครบ้านหนังสืออัจฉริยะ "บ้านไม้ฝาด" อ.สิเกา จ.ตรัง 
กล่าวว่า หลังจากที่ได้เข้าร่วมพิธีเปิดตัวโครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะ ซึ่งบ้านของตนได้ดำเนินการจัดเป็นมุมหนังสือ
ร่วมกับทางห้องสมุดประชาชนมาตั้งแต่ ปี 2553 แล้ว และเห็นความสำคัญของการอ่าน จึงได้สละพื้นที่บ้าน
ของตนเองจัดพื้นที่เป็นบ้านหนังสือฯ เพราะตนอยากมีส่วนช่วยให้คนในชุมชนได้มีนิสัยรักการอ่านมากขึ้น
          "การอ่านเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้ของคนทุกระดับ ซึ่งการอ่านเป็นการเปิดความรู้ใหม่ๆ ให้แก่ตนเอง ดังนั้นในบ้านหนังสือฯ จึงได้จัดหนังสือไว้อย่างหลากหลาย ทั้งหนังสือพิมพ์ วารสาร  นิตยสารและบริการแว่นสายตาสำหรับอ่านหนังสือ ที่จะให้ประชาชนได้รับรู้ข่าวสารที่เป็นปัจจุบัน  ทั้งนี้เต็มใจที่จะสละพื้นที่ส่วนหนึ่งให้กับการดำเนินโครงการครั้งนี้ โดยพยายามจัดมุมให้มีบรรยากาศที่น่านั่งอ่านหนังสือ เพื่อจูงใจให้คนมาอ่านหนังสือเยอะๆ" และใช้เป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมด้านอื่นๆอีกด้วย